ลานกางเตนท์ ณ อุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวง จ. เพชรบูรณ์
กลับมาได้สักพัก มีความสุขมาก ตอนแรกคิดอยู่ว่าจะเขียนเล่าดีไหม ใจนึงก็ขี้เกียจ แต่คิดไปคิดมาก็เชื่อว่ามันจะมีประโยชน์กับคนอื่น เช่นคนที่กำลังสนใจอยากจะกางเต้นท์ camping ในเมืองไทยบ้าง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กเหมือนครอบครัวเรา
ในเมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้มนุษย์เชื่อมหากันง่าย แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีทำให้เราห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น ทุกวันนี้เราอยากรู้อะไรก็ค้นหาข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ว่าเราจะได้รับข้อมูลที่ถูกคัดกรองมาจากคนอื่น เห็นสิ่งที่คนอื่นอยากเล่า และอยากให้เราเห็น เรามองโลกผ่านมุมมองที่คนอื่นมองและคัดกรองมาให้ ใช้เวลากับมันมากกว่ามองโลกผ่านตาเราเอง บางครั้งการชมภาพดอกไม้ เราก็ไม่ได้รู้สึกถึงกลิ่น บางครั้งภาพน้ำตกที่เห็นก็ไม่ได้ให้ความเย็นและชุ่มชื่น ข้อมูลไม่เคยมอบความรู้สึกที่แท้ นักเดินทาง จำเป็นต้องออกไปสัมผัสด้วยตัวเอง
ครั้งนี้ผมและครอบครัวเดินทางแบบ Roadtrip ขับรถกันไปเอง 8 วัน 7 คืน ขับรถขึ้นไปทางอีสาน ก่อนขึ้นไปเหนือและขับกลับ เราวางแผนนอนเต้นท์ สลับกับโรงแรม เหตุผลก็เพื่อไม่ให้เรารู้สึกเหนื่อยล้ากันจนเกินไป จุดหมายแรกคือ กางเต้นท์นอนที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ. เพชรบูรณ์ ก่อนที่จะขับรถต่อไปพักในเมืองที่เชียงใหม่ และขับรถขึ้นไปนอนรีสอร์ทใกล้ๆดอยอินทนนท์ อีกหนึ่งคืน ก่อนที่จะกางเต้นท์ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์หนึ่งคืน และขับรถต่อไปกางเต้นท์ที่สวนป่าดอยบ่อหลวง ก่อนที่จะขับรถกลับมาพักโรงแรมและไหว้พระอีก 2 คืนที่จังหวัดสุโขทัย ก่อนแวะไหว้พระพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก ก่อนกลับเข้ากทม.
เป้าหมายแรกคือ ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งแสลงหลวง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย” ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร ทุ่งแสลงหลวงมีพื้นที่ ครอบคลุม 2 จังหวัดได้แก่ จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ทุ่งแสลงหลวงมีสภาพธรรมชาติ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้สัตว์ป่านานาชนิดซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยว ระยะห่างจากกรุงเทพเพียงประมาณ 400 กิโลเมตร หรือใช้เวลาขับรถประมาณ 5 ชั่วโมง 40 นาทีก็ถึง
เราออกเดินทางกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไปถึงที่นั่นประมาณบ่าย 3 โมงกว่า ถนนดีตลอดเส้นทาง รถโล่งขับง่าย แตกต่างจากในเมืองหลวงยิ่งนัก บรรยากาศที่นั่นในช่วงบ่ายมีแดดก็ร้อนไม่ต่างจากกรุงเทพสักเท่าไร พอพระอาทิตย์ตกจะมีอากาศหนาวเย็น ช่วงปลายฤดูหนาวที่เราไป ทุ่งหญ้าที่เคยเขียวขจี ก็กลายเป็นสีน้ำตาล ที่ทุ่งแสลงหลวงคนจะนิยมเที่ยวกันอยู่สองช่วง คือช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ ส่วนในช่วงฤดูฝนมิถุนายน-ตุลาคม ก็จะได้บรรยากาศที่เขียวขจีและสดชื่น
เราไปถึงเป็นกลุ่มที่สอง นนท์และภา (เพื่อนสองคนที่ชวนเรามา) เดินทางมาถึงและกางเต้นท์อยู่ก่อนแล้ว สองคนนี้แคมป์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และหลายที่ เราจึงจอดรถและเลือกกางเต้นท์ใกล้ๆกัน เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเรา จึงได้นนท์และภามาช่วยกางเต้นท์ เป่าลมเตียงนอน และช่วยเหลือเรื่องอื่นๆได้ ผมว่าข้อนี้สำคัญ ถ้าเรามี camping buddy ที่ดี จะทำให้เราสนุกกับการ camping มากขึ้น ไม่นานนักรถอีกคันที่เป็นเพื่อนเราก็มาถึง ในนั้นมีต๊อก ดริ้ง และเอฟ ต๊อกเป็นรุ่นน้องของนนท์ที่ Cheeze Magazine สมัยนั้นนนท์เป็นช่างภาพ และต๊อกเป็น Graphic Designer ส่วนดริ้งเป็นแฟนต๊อก และเอฟเป็นรุ่นน้องต๊อกที่โคราช
หลังจากเรากางเต้นท์และจัดข้าวของเสร็จ ก็ออกเดินทางขับรถเข้าไปในทุ่งแสลงหลวง เพื่อชมอุทยาน ระหว่างทางที่ขับรถเข้าไปมีฝุ่นตลบอบอวนตลอดทาง เพราะว่าพื้นเป็นดินทรายพอรถวิ่งผ่านก็เกิดเป็นฝุ่น เราแวะจอดรถถ่ายกับต้นไม้ทรงแปลกหูแปลกตาระหว่างทาง จุดมุ่งหมายคือบนยอดสุดของอุทยาน แต่โชคไม่ดี รถเราไม่สามารถไต่ขึ้นไปบนจุดที่สูงมากได้นัก จึงต้องถอยกลับมาตั้งหลักที่เต้นท์
ตกเย็น เราเริ่มทำอาหารกินกัน ช่วงนี้เป็นช่วงพีค เพราะแต่ละคนก็ต่างไม่มีใครยอมใคร พกเมนูเด็ดของตัวเองมา บ้างก็ซี่โครงหมูหมักมาจากที่บ้าน บ้างก็ใส้กรอกอีสานเตรียมมาทอด หรือแม้กระทั่งแฮมเบอร์เกอร์หมู และเนื้อ นอกจากนี้ยังมีสเต็กเนื้อหมู พร้อมน้ำจิ้มแจ่ว จนผมรู้สึกว่าแคมป์วันแรก เรากินดีอยู่ดีกว่าตอนอยู่กทม. อีกเสียด้วยซ้ำ อาหารและเครื่องเคียงถูกหมัก ปรุง หรือหั่นแยกไว้มาจากที่บ้านแล้ว เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการทำ สาวๆใช้เวลาปรุงอาหารกันอย่างสนุกสนานในช่วงพระอาทิตย์ตกจนฟ้าเริ่มมืด เราก็เริ่มนั่งกินอาหารกันจนเสร็จ ก่อนที่จะเริ่มก่อกองไฟนั่งคุยกันเรื่อยเปื่อยถึงเรื่องต่างๆ บ้างก็พูดถึงประสบการณ์ที่ได้ไปแค้มป์ที่อื่นให้เพื่อนๆฟัง หรือบ้างก็พูดถึงเรื่องอุปกรณ์แค้มป์ที่อยากได้เพิ่ม ทำให้การแค้มป์ในครั้งนี้สนุกสนานและเป็นกันเอง ก่อนที่เราจะแยกกันเข้านอน
สำหรับคืนแรกของการแค้มป์ เป็นคืนที่ยากหน่อยสำหรับผม เนื่องจากเป็นคนที่นอนหลับยาก ที่ทุ่งแสลงหลวงจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ในตอนกลางคืน จะได้ยินเสียงนก เสียงสัตว์อื่นๆตลอดเวลา ซึ่งผมต้องใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะข่มตาหลับได้ ถ้าใครที่นอนหลับยาก อาจจะต้องเตรียมที่อุดหูมาด้วยน่าจะดี ตอนกลางคืนถ้าใครสนใจ ทางอุทยานก็จะมีกิจกรรมนั่งรถไปส่องสัตว์ อย่างกวางป่า เนื้อทราย หรือสุนัขจิ้งจอกที่ออกมาหาอาหารกินตอนกลางคืนด้วย
ผมรู้สึกตัวตื่นหลายครั้งในคืนแรก บ้างเป็นเพราะได้ยินเสียงร้องของสัตว์ แต่บางครั้งก็เพราะรู้สึกหนาวจนเกินไป เวลา 6:45am เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความหนาวเหน็บในอุณหภูมิประมาณ 14 องศา พอรูดซิปเต้นท์ออกมาพบกว่าหมอกปกคลุมพื้นที่อยู่ทั้งหมด แสงอาทิตย์ยังสาดมาไม่ถึงตรงจุดที่เราอยู่ เพราะจุดนั้นอยู่เป็นร่องกลางหุบเขารองเท้า ถุงเท้า จาน ชาม หรือของที่วางไว้นอกเต้นท์เปียกชื้น มีไอน้ำเกาะหมด อารมณ์เหมือนอยู่ในตู้เย็น
มองไปรอบๆ วิวด้านหน้าที่เคยเป็นทุ่งหญ้ากลายเป็นทะเลหมอก มีวิวภูเขาอยู่ด้านหลัง ผมเดินไปเข้าห้องน้ำเพียง 5 นาที กลับมาแสงอาทิตย์ก็เริ่มสาดถึงตัวเรา นนท์ตั้งโต๊ะชงกาแฟและเรียกให้ผมมาร่วมแจม ผมเดินไปที่รถหยิบถุงใส่อุปกรณ์กาแฟและเริ่มจุดไฟตั้งกาน้ำร้อนชงกาแฟดื่มกันจนแสงอาทิตย์โผล่ทะลุเหนือภูเขาที่บดบังเราไว้ สาดแสงไปที่ทะเลหมอกด้านหน้า จนหมอกบางๆค่อยๆจางหายไปในที่สุด
สำหรับคืนแรกของการแค้มป์ เป็นคืนที่ยากหน่อยสำหรับผม เนื่องจากเป็นคนที่นอนหลับยาก ที่ทุ่งแสลงหลวงจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ในตอนกลางคืน จะได้ยินเสียงนก เสียงสัตว์อื่นๆตลอดเวลา ซึ่งผมต้องใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะข่มตาหลับได้ ถ้าใครที่นอนหลับยาก อาจจะต้องเตรียมที่อุดหูมาด้วยน่าจะดี ตอนกลางคืนถ้าใครสนใจ ทางอุทยานก็จะมีกิจกรรมนั่งรถไปส่องสัตว์ อย่างกวางป่า เนื้อทราย หรือสุนัขจิ้งจอกที่ออกมาหาอาหารกินตอนกลางคืนด้วย
นี่ประสบการณ์ในการกางเต้นท์นอนครั้งแรกของครอบครัวเรา ตอนแรกผมแอบกลัว กลัวว่าภรรยาและลูกจะนอนลำบากไหม ห่วงเรื่องห้องน้ำสกปรก ทำอาหารกินกันเองจะเหนื่อยไหม แต่ตรงกันข้าม ภรรยากับลูกชอบมาก เด็กส่วนใหญ่คงตื่นเต้นกับการได้กางเต้นท์นอนนอกบ้าน ยิ่งเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เล่นต้นไม้ กับหิน ดิน ทราย ร่วมถึงช่วยพ่อแม่ ทำกิจกรรมอะไรบางอย่างที่เค้าสามารถช่วยได้ อาทิเช่นการกางเต้นท์ ตอกสมอบก จัดที่นอน หรือแม้กระทั่งช่วยแม่เตรียมอาหาร เมื่อเด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างไกล้ชิด ได้ดูแลตัวเอง ได้ฝึกทำอะไรเอง เค้าก็จะเริ่มรักธรรมชาติมากขึ้น
คำถามที่หลายคนคงจะสงสัย
-
กางเต้นท์ที่อุทยาน มีค่าใช้จ่ายยังไงบ้าง ?
ค่าเข้าและกางเต้นท์อยู่ที่คนละ 40 บาท เด็ก 20 บาท
-
ห้องน้ำสะอาดไหม?
ห้องน้ำที่อุทยานทุ่งแสลงหลวงเก่า แต่สะอาด มีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ แทบจะทุก 1-2 ชั่วโมง เพียงแต่แค่ถูกสร้างไว้นานแล้ว พวกส้วม หรือประตูต่างๆเลยดูโทรม แต่ความเป็นจริงสะอาดมาก
-
มีอาหารขายไหม ?
จริงๆมีร้านอาหารของอุทยานแต่เปิดปิดเป็นเวลา ถ้าหากจะไปแค้มป์หรือกางเต้นท์นำอาหารไปทำได้ ปากซอยทางเข้า มีร้านของชำมีหมูกระทะขายมาส่งได้ถึงที่
-
สามารถดื่มแอลกอฮอล หรือเสียงดังได้ไหม
ทางอุทยานไม่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล และขอให้ทุกคนงดใช้เสียง หรืองดเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม (พอถึงเวลา จะมีเจ้าหน้าที่เดินมาบอกให้ปิดวิทยุ ลำโพง แต่ยังนั่งคุยกันเบาๆได้)
-
พาลูกไปด้วย อากาศหนาวๆ แล้วอาบน้ำที่ไหน?
อุทยานมีห้องอาบน้ำ ที่สามารถอาบได้ แต่จะไม่มีน้ำอุ่น พวกเราเลือกที่จะนอนเต้นท์ 1 คืน สลับกับนอนโรงแรม 1 คืน พอเรานอนตื่นมา ก็ขับรถไปอีกจังหวัดเพื่อนอนที่โรงแรม จะได้ไม่รู้สึกสกปรกและเหนื่อยกับการเดินทาง กางเต้นท์ ทำอาหารมากเกินไป
Comments
There are no comments yet.