รีวิว : Rolleiflex 3.5F Whiteface

ผมเชื่อว่ากล้องเกือบทุกตัวในโลกใบนี้ดีหมด แต่มันจะเหมาะกับใคร และโอกาสไหนก็อีกเรื่องนึง ก่อนที่พูดถึงกล้องตัวนี้ ผมอยากจะบอกก่อนว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในกล้อง Rolleiflex เท่าไรนัก เป็นเพียงแค่คนที่หลงใหลในรูปลักษ์และการใช้งานกล้อง Rolleiflex คนนึงเท่านั้น ซึ่งกว่าตัวผมเองจะมาหลงรักการทำงานเจ้ากล้อง Rolleiflex นั้น ก็ใช้เวลาถึง 4-5 ปี ผมเริ่มจากถูกโฉลกที่หน้าตาอันคลาสสิคของกล้องก่อนที่จะรู้จักวิธีการใช้ ซึ่งไม่น่าจะต่างจากคนอื่นๆ เมื่อไปเจอกล้อง Rolleiflex ที่ร้านขายกล้องมือสองก็เลยตัดสินใจซื้อมาลองใช้ (ตอนนั้นเป็น  Rolleiflex T) แต่ด้วยความที่กล้อง Rolleiflex ตัวนั้นที่ได้มาไม่มีวัดแสงในตัว ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนก็ถือว่ายังยากเกินไปสำหรับคนที่พึ่งจะกลับมาถ่ายฟิล์มใหม่ โดยเฉพาะ Medium Format ที่มีค่าเสียหายแพงกว่าฟิล์ม 135 อีกด้วย บวกกับสไตล์การถ่ายภาพของตัวเองยังไม่ได้สอดคล้องกับกล้องประเภทนี้ เลยทำให้กล้อง Rolleiflex ตัวแรกของผมถูกนำมาใช้แค่ม้วนเดียว และถูกนำไปวางอยู่บนชั้นทิ้งไว้ปีกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจขายออกไป
หลังจากนั้นอีก 3 ปีถัดมา สไตล์การถ่ายภาพของตัวเองเปลี่ยนไปชัดเจน เริ่มรู้สึกว่าเรามีความสุขที่จะค่อยๆบรรจงถ่ายรูปในแต่ละใบมากขึ้น มากกว่าที่จะ snap อะไรไวๆ หรือถ่ายไปเรื่อยเปื่อย และนี่คือโอกาสที่ดีในการกลับมาสู่กล้อง Rolleiflex อีกครั้งและก็ทำให้ผมต้องไปหาซื้อกล้อง Rolleiflex รุ่น 2.8E กลับมาใช้อยู่สักพัก ก่อนที่จะขายออกไป เพื่อเปิดทางให้กล้อง Rolleiflex 3.5F Whiteface ตัวนี้ ที่ประมูลมาชนะมาจาก eBay ตัวที่จะรีวิวให้อ่านกันในวันนี้ ตอนหาก็พยายามหารุ่น Whiteface เพราะเท่าที่ทราบมา จะเป็นรุ่นท้ายๆ ซึ่งคิดว่าสภาพโดยรวมยังจะนำมาใช้ได้เลยทันที แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างเท่าไร เพราะตอนที่ซื้อมาคนขายบอกว่ากล้องพึ่ง CLA มาปีที่แล้ว แต่พอเอามาใช้จริง กล้องกลับมีปัญหาเรื่อง Shutter เลยต้องส่งไป CLA ที่ Craftcase ในจังหวะนั้นก็เลยถือโอกาสเปลี่ยน Focusing Screen เป็นของ Mamiya ไปด้วยเลย
ถ้าใครตาม IG ของผมอยู่ คงจะเห็นว่านอกจากกล้อง Leica MP ตัวเก่งแล้ว ยังมีกล้องอีกตัวที่เป็นกล้องตัวโปรดในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก็คือ Rolleiflex 3.5F Whiteface ตัวนี้ที่มาพร้อมกับเลนส์ Schneider-Kreuznach Xenotar กล้องตัวนี้เป็นกล้องที่สนุกทุกครั้งที่ได้เอาออกไปถ่ายด้วยเสมอ สนุกไม่ใช่แค่เฉพาะตอนที่เราได้ดูผลลัพภ์หรือภาพที่ถ่ายจากกล้องเท่านั้น แต่สนุกตั้งแต่ตอนตั้งค่าต่างๆของกล้อง การใส่ฟิล์ม การมองผ่าน Foucing Screen วางคอมโพส และกด shutter ซึ่งมันคือขั้นตอนเล็กๆน้อยๆที่สนุกและสำคัญสำหรับการถ่ายภาพ ที่หาไม่ได้ในกล้องรุ่นอื่น

The Camera

กล้อง Rolleiflex ถูกปล่อยออกสู่ตลาดโดย Franke & Heidecke ในปี1929 Rolleiflex ตัวนี้ถือว่าเป็นกล้องประเภท TLR (Twin Lens Reflex) เนื่องจากกล้องตัวนี้จะมีเลนส์สองตัว ซึ่งตัวนึงเอาไว้ใช้ focus วางคอมโพส โดยภาพที่เรามองเห็นผ่าน Focusing Screen จะเป็นภาพที่ถูกสะท้อน (Reflex) ขึ้นมา และอีกตัวนึงเอาไว้ถ่ายจริง กล้อง Rolleiflex ใช้ฟิล์ม ขนาด 120mm ซึ่งจะถ่ายได้ 12 ภาพโดยภาพจะมีขนาด 6x6cm หรือ Square Format คล้ายๆกับที่เราคุ้นเคยใน Instagram การโฟกัสจะเป็นการมองผ่าน Waist Level Finder หรือช่องมองจากด้านบน ซึ่งถ้าใครที่ไม่เคยใช้กล้องประเภทนี้มาก่อน อาจจะงงเล็กน้อยเพราะภาพที่เราเห็นบน Focusing Screen นั้นจะสลับกลับด้านซ้ายขวา แต่ภาพที่เรามองผ่าน Waist Level Finder จะออกมามีมิติที่สวยงามมากกว่ามองผ่านเลนส์ของ SLR ทั่วไป  แต่จะมีปัญหาเรื่อง Pallarax บ้างเพราะตอนเรา focus เราไม่ได้ focus ผ่านเลนส์ที่จะถ่ายจริง
กล้อง Rolleiflex 3.5F ตัวนี้ มีน้ำหนักประมาณ 1.2 กิโล (หนักกว่า Mirrorless พร้อมเลนส์อยู่เล็กน้อย แต่ก็ยังเบากว่ากล้อง DSLR + เลนส์อยู่พอสมควร)  ขนาดของกล้องไม่ได้ใหญ่มากจนเกินไป เมื่อเทียบกับฝ่ามือ แต่ก็ไม่ได้เป็นกล้องที่พกพาได้ง่ายนัก  กล้องถูกออกแบบและประกอบขึ้นจากเหล็กกับกระจกและเลนส์เท่านั้น ทำให้กล้อง Rolleiflex แข็งแรงและทนทานมากถ้าเทียบกับกล้องในปัจจุบัน  ถ้าถือกล้องไว้ด้วยมือหันหน้าเลนส์ออก ด้านซ้ายของกล้องจะเป็น focus knob ด้านขวาจะเป็นที่กรอฟิล์ม ส่วนด้านซ้ายของเลนส์จะเป็น shutter speed dial ซึ่งมี speed shutter สูงสุดอยู่ที่ 1/500 และต่ำสุดที่ 1 วินาที (มี shutter B เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกด้วยเช่นกัน) ซึ่ง shutter ของกล้อง Rolleiflex เป็น Leaf shutter ที่เบามาก ซึ่งถ้าใช้ถ่ายในที่แสงน้อย ยังสามารถถือนิ่งด้วยมือถ่ายใน speed อย่าง 1/15 ได้สบายๆ ด้านขวาของเลนส์จะเป็นตัวปรับตั้งค่า F stops ที่ค่า F 3.5 ไปจนถึง F22
Meter ที่ติดมากับกล้องตัวนี้ ยังใช้งานได้ แต่ก็ไม่ค่อยเที่ยงตรงนัก เนื่องด้วยอายุขัยของมัน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผมตอนนี้แล้ว เนื่องจากผมสนุกกับการวัดแสงด้วยกฏ Sunny 16 หรือบางครั้งก็ใช้ที่วัดแสงภายนอกหรือ App ในมือถือช่วย
สำหรับผมกล้อง Rolleiflex ตัวนี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ผมสนุกกับการกลับมาเรียนรู้เรื่องของพื้นฐานของการถ่ายภาพอีกครั้งนึง อีกมุมนึงที่ได้รับคือ ความรู้ที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ล้าง และอัดภาพจากฟิล์มสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพดิจิตอลได้เช่นกัน
ท้ายที่สุดกล้องก็เป็นแค่อุปกรณ์นึงที่ช่วยให้คุณสนุกที่จะออกจากบ้าน พาตัวเองไปยังที่ที่คุณไม่เคยไป และใช้ในการบันทึกภาพแห่งความทรงจำเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวคุณเอง และกล้องตัวที่ดีที่สุดคือกล้องที่คุณรู้สึกสนุก รู้สึกตื่นเต้นที่จะพกพาและใช้มันในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตลอดไป
สำหรับผมกล้อง Rolleiflex ตัวนี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ผมสนุกกับการกลับมาเรียนรู้เรื่องของพื้นฐานของการถ่ายภาพอีกครั้งนึง อีกมุมนึงที่ได้รับคือ ความรู้ที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ล้าง และอัดภาพจากฟิล์มสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพดิจิตอลได้เช่นกัน
ท้ายที่สุดกล้องถ่ายรูปก็เป็นแค่อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผมรู้สึกสนุกที่จะออกจากบ้าน พาตัวเองไปยังที่ที่ผมยังไม่เคยไป และใช้ในการบันทึกภาพแห่งความทรงจำเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวคุณเอง ว่าจะนำมันไปใช้ทำอะไร รวมถึงกล้องตัวที่ดีที่สุดอาจจะไม่มีอยู่จริง มีแต่กล้องที่คุณรู้สึกสนุก รู้สึกตื่นเต้นที่จะพกพาและใช้มันในช่วงเวลานั้น เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตลอดไป